Oder-Neisse Line

แนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ

​​​​​     แนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) กับโปแลนด์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๐ ถึงปัจจุบันและในอดีตระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic) หรือเยอรมนีตะวันออกกับโปแลนด์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๙๐ แนวพรมแดนดังกล่าวกำหนดโดยมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรในการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference)* และการประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยให้ถือเอาแม่น้ำ ๒ สาย คือแม่น้ำโอเดอร์ [ (Oder) หรือโอดรา (Odra) ในภาษาโปล] และแม่น้ำไนส์เซอตะวันตกหรือลูเซเชียนไนส์เซอ (Lusatian Neisse) ที่ไหลผ่านเยอรมนีเชื่อมต่อกันเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติ ทำให้เยอรมนีตะวันตกไม่ยอมรับแนวพรมแดนนี้เป็นเวลานาน เพราะต้องสูญเสียดินแดนทางด้านตะวันออกในอาณาบริเวณกว้างให้แก่โปแลนด์ จนใน ค.ศ. ๑๙๗๑ ปัญหาจึงยุติลงเมื่อเยอรมนีตะวันตกลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือกับสหภาพโซเวียตและโปแลนด์หลังการใช้นโยบายมุ่งตะวันออก (Ostpolitik)*
​     แม่น้ำโอเดอร์มีต้นกำเนิดจากบริเวณเทือกเขาซูเดเทน (Sudeten) ในสาธารณรัฐเช็กและไหลไปทางตะวันตกเฉียงเหนือผ่านดินแดนโปแลนด์เข้าไปในเยอรมนีจนบรรจบกับแม่น้ำไนส์เซอ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำโอเดอร์ที่บริเวณเมืองฟรังค์ฟูร์ทอันเดอร์โอเดอร์

(Frankfurt ander Oder) หรือ แฟรงก์เฟิร์ต และไหลต่อไปทางเหนือจนออกสู่ทะเลบอลติก (Baltic Sea)ส่วนแม่น้ำไนส์เซอก็ไหลจากเมืองแฟรงก์เฟิร์ตลงมาทางใต้จนถึงเมืองซิทเทา (Zittau) ในสาธารณรัฐเช็ก ในอดีตแม่น้ำโอเดอร์เคยเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างโปแลนด์กับรัฐเยอรมันที่ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเป็นครั้งคราวแต่ไม่ถาวร เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านดินแดนอยู่ตลอดเวลา เช่น ในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ และ ๑๐ ในสมัยแรกเริ่มของการตั้งรัฐโปแลนด์มีการใช้แม่น้ำโอเดอร์เป็นแนวพรมแดนอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งแต่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา หลังจากที่ได้มีการขยายเขตของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ออกไปอย่างกว้างขวาง แม่น้ำโอเดอร์ส่วนใหญ่และสาขาหลายสายก็ได้กลายเป็นแม่น้ำภายในพรมแดนของเยอรมนีมาจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* และมีความสำคัญทางด้านการคมนาคมขนส่งและการพาณิชย์ของดินแดนใกล้เคียงมาโดยตลอด
     อย่างไรก็ดี เมื่อใกล้จะสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม่น้ำโอเดอร์ก็เริ่มมีความสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศเมื่อผู้นำของมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรทั้ง ๓ ประเทศ ได้แก่ แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D.Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล (Winston Churchill)* แห่งอังกฤษ และโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* แห่งสหภาพโซเวียต ได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันที่ยัลตาเมืองตากอากาศในแหลมไครเมียของสหภาพโซเวียตระหว่างวันที่ ๔-๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อพิจารณาปัญหาการเผด็จศึกในขั้นตอนสุดท้ายของสงคราม การยึดครองเยอรมนี การจัดระเบียบใหม่ให้แก่ยุโรป และการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ในการประชุมครั้งนี้สตาลินได้เสนอให้มีการปักปันเขตแดนของประเทศโปแลนด์ขึ้นใหม่โดยให้ขยับดินแดนทางด้านตะวันตกของสหภาพโซเวียตเข้ามาทางตะวันออกของโปแลนด์อีกประมาณ ๒๓๐ กิโลเมตร จนชิดแนวพรมแดนเคอร์ซัน (Curzon Line)* ที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๙ เพื่อให้ครอบคลุมดินแดน บางส่วนของรัฐยูเครน (Ukraine) และเบลารุสเซีย (Belarussia) ที่สหภาพโซเวียตสูญเสียให้แก่เยอรมนีตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสก์ (Treaty of Brest-Litovsk ค.ศ. ๑๙๑๘)* และต่อมามหาอำนาจได้ยกดินแดนเหล่านี้ให้แก่โปแลนด์ตามข้อตกลงของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles ค.ศ. ๑๙๑๙)* รวมทั้งเพื่อให้ได้ดินแดนบางส่วนของโปแลนด์ที่อยู่ติดกันเป็นของสหภาพโซเวียตด้วย พร้อม กันนั้นก็ได้เสนอให้ขยับพรมแดนของโปแลนด์ทางด้านตะวันตกลึกเข้าไปในดินแดนของเยอรมนีด้านตะวันออกจนชิดกับแนวแม่น้ำโอเดอร์และไนส์เซอเพื่อเป็นการชดเชยกับการที่โปแลนด์จะต้องสูญเสียดินแดนให้กับตนโดยให้แม่น้ำโอเดอร์และไนส์เซอเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ซึ่งจะเริ่มจากริมฝั่งทะเลบอลติกทางเหนือไปจนจดเขตแดนสาธารณรัฐเช็กที่อยู่ทางตอนใต้ของเยอรมนี ส่วนดินแดนที่ เยอรมนีจะต้องยกให้แก่โปแลนด์จะประกอบด้วยไซลีเซีย (Silesia) เกือบทั้งหมด มากกว่าครึ่งหนึ่งของพอเมอเรเนีย (Pomerania) บรันเดนบูร์ก (Brandenburg) ทางด้านตะวันออก และบางส่วนของแคว้นแซกโซนี (Saxony) รวมทั้งเมืองสำคัญ ๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโอเดอร์ได้แก่ราทิบอร์ [ (Ratibor) หรือราชีบุร์ช (Racibórz) ในภาษาโปล] ออพเพิลน์ [ (Oppeln) หรือออพอเล (Opole)] เบรสเลา [ (Breslau) หรือวรอตซวาฟ (Wroclaw)] รวม ทั้งชเตททิน [ (Stettin) หรือชเชตชีน (Szczecin)] และสวีเนมึนเดอ [ (Swinemunde) หรือชฟีนออูอีชเช (Świnoujście)] ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของเยอรมนียกเว้นเพียงเมืองแฟรงก์เฟิร์ตเท่านั้นที่สหภาพโซเวียตยอมให้คงไว้เป็นของเยอรมนีนอกจากนี้โปแลนด์ยังจะได้อดีตเสรีนครดานซิก [(Free City of Danzig) หรือเมืองกดานสก์ (Gdansk)] และดินแดน ๒ ใน ๓ ของอีสต์ปรัสเซีย (East Prussia) มาซูเรีย (Masuria) และวาร์เมีย (Warmia) ส่วนดินแดนอีก ๑ ใน ๓ ของอีสต์ปรัสเซีย [ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคาลินินกราดโอบลาสต์ (Kaliningrad Oblast)] จะถูกผนวกเป็นของสหภาพโซเวียตโดยตรง
     การเรียกร้องดังกล่าวของสหภาพโซเวียตส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการที่จะผนวกดินแดนทางตะวันออกของโปแลนด์และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากแรงผลักดันของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ที่สหภาพโซเวียตหนุนหลังอยู่ในขณะนั้น สตาลินได้กล่าวย้ำเกี่ยวกับโปแลนด์ว่า "สำหรับประชาชนชาวรัสเซีย ปัญหาของโปแลนด์ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของเกียรติยศ หากแต่ยังเป็นปัญหาของความปลอดภัยด้วย ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โปแลนด์เป็นเส้นทางที่ศัตรูใช้ผ่านเข้ามายังรัสเซียตลอดเวลา โปแลนด์จึงเป็นปัญหาความเป็นความตายของรัสเซีย" อย่างไรก็ดี ในตอนแรกสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่เห็นด้วยกับการนำดินแดนของเยอรมนีจำนวนมากชดเชยให้กับโปแลนด์ เพราะเกรงว่าจะทำให้โปแลนด์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตมากเกินไป ทั้งยังเห็นว่าจะมีปัญหาในการโยกย้ายประชากรชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในดินแดนเหล่านี้เข้าไปในเยอรมนีถึง ๘ ล้านคน นอกจากนี้ สองมหาอำนาจยังให้เหตุผลว่าการทำให้เยอรมนีต้องสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนมากอาจเป็นสาเหตุให้เยอรมนีคิดแก้แค้นในภายหลัง ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่สำคัญในอนาคต สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจึงคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว แต่ต่อมาได้มีความพยายามที่จะเจรจาต่อรองระหว่างกันอีกครั้ง โดยเฉพาะในปัญหาสำคัญ ๆ เช่น ปัญหาที่ว่าจะใช้แนวแม่น้ำไนส์เซอตะวันตกหรือไนส์เซอตะวันออก และปัญหาเมืองชเตททินซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องการให้คงไว้เป็นของเยอรมนีจึงได้เสนอให้เมืองอื่นแทนแต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธรวมทั้งปฏิเสธที่จะใช้แม่น้ำไนส์เซอตะวันออกหรือแม่น้ำโบเบอร์ [ (Bober) หรือบูเบอร์ (Bóbr)] เป็นแนวพรมแดนด้วยในที่สุดทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ต้องยอมรับในหลักการโดยถือว่าแม่น้ำโอเดอร์และไนส์เซอเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติระหว่างโปแลนด์กับเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับดินแดนที่แน่นอนว่าจะประกอบด้วยเมืองใดบ้างนั้นจะได้มีการตกลงกันในภายหลังเมื่อมีการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับเยอรมนี ปัญหาที่ยังตกลงกันไม่ได้ คือ ปัญหาเมืองชเตททินและแนวแม่น้ำไนส์เซอ
     การที่มหาอำนาจทั้งสองต้องยอมลงมติตามข้อเรียกร้องของสหภาพโซเวียต เนื่องจากในขณะนั้นสหภาพโซเวียตได้เคลื่อนกำลังกองทัพเข้าไปจนใกล้จะถึงกรุงเบอร์ลินแล้ว ในขณะที่กองทัพของพันธมิตรตะวันตกเพิ่งตีรุกพื้นที่ของฝรั่งเศสกลับคืนมาได้เท่านั้นและยังไม่สามารถยกข้ามแม่น้ำไรน์เข้าไปในเยอรมนีได้อีกทั้งในยุโรปตะวันออกหลายประเทศก็ยังมีกองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตเข้าไปตั้งอยู่เพื่อทำการปลดปล่อยประเทศเหล่านั้นจากการยึดครองของกองทัพนาซี (NAZI)* ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๔ ทำให้สหภาพโซเวียตมีอำนาจต่อรองสูงกว่ามหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรอีก ๒ ประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยังต้องการให้สหภาพโซเวียตร่วมมือเผด็จศึกในยุโรปในขั้นตอนสุดท้ายโดยเร็วเพื่อจะมุ่งเผด็จศึกในตะวันออกไกลต่อไป และสหรัฐอเมริกายังต้องการให้สหภาพโซเวียตร่วมมือในการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติด้วย ประธานาธิบดีรูสเวลต์จึงยอมผ่อนปรนให้กับสหภาพโซเวียตเป็นส่วนใหญ่
     อย่างไรก็ดี หลังการประชุมที่ยัลตาสหภาพโซเวียตได้เคลื่อนย้ายกำลังกองทัพแดงเข้าไปยึดครองดินแดนตลอดแนวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโอเดอร์และไนส์เซอตะวันตก พร้อมทั้งได้ส่งมอบอำนาจการบริหารงานในดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทั้งสองให้แก่รัฐบาลเฉพาะกาลของโปแลนด์ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการขับไล่และผลักดันประชากรชาวเยอรมันหลายล้านคนออกไปจากดินแดนเหล่านั้นจนเกือบหมดแม้ว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะได้ประท้วงอย่างแข็งขันแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการกระทำโดยพลการของสหภาพโซเวียตได้ การจัดตั้งแนวพรมแดนโอเดอร์ไนส์เซอจึงเป็นเรื่องที่สหภาพโซเวียตได้กระทำเสร็จสิ้นลงไปแล้ว เพียงแต่รอเวลาให้มหาอำนาจอีก ๒ ประเทศให้การรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น
     ต่อมา ในการประชุมที่วังเซซิเลียนโฮฟ (Cecilienhof) เมืองพอทสดัม ในเยอรมนี ระหว่างวันที่ ๑๗ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ มหาอำนาจทั้งสามได้นำเรื่องเขตแดนของโปแลนด์ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งโดยสตาลินได้กล่าวยืนยันว่าแนวพรมแดนโอเดอร์ไนส์เซอตะวันตกเป็นแนวพรมแดนที่รัฐบาลโปแลนด์ต้องการและในขณะนี้ก็ไม่มีชาวเยอรมันอาศัยอยู่ในดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทั้งสองอีกต่อไป ทั้งยังให้เหตุผลว่า เป็นการสมควรแล้วที่โปแลนด์จะได้รับการชดเชยสำหรับการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งจากในอดีตที่ผ่านมาและโดยเฉพาะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เยอรมนีเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีการเจรจาต่อรองกันเป็นเวลานานระหว่างสตาลินฝ่ายหนึ่งกับประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S Truman) แห่งสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเข้ารับตำแหน่งแทนประธานาธิบดีรูสเวลต์) และนายกรัฐมนตรีเคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* แห่งอังกฤษ (ซึ่งเข้ารับตำแหน่งแทนเชอร์ชิลล์) อีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในที่สุดผู้นำมหาอำนาจทั้งสามก็ตกลงให้ใช้แนวแม่น้ำโอเดอร์และไนส์เซอตะวันตกที่เรียกว่าลูเซเชียนไนส์เซอเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ เหตุผลหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยอมตกลงให้ใช้แนวแม่น้ำโอเดอร์ไนส์เซอนี้ก็เพราะว่าเส้นดังกล่าวมีความยาวรวมกัน ๔๗๒ กิโลเมตรซึ่งนับว่าเป็นเส้นพรมแดนที่สั้นที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ในขณะนั้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังยินยอมให้โปแลนด์ได้ครอบครองดินแดนทางด้านตะวันออกของเยอรมนีทั้งหมดตามที่สหภาพโซเวียตเสนอขอต่อที่ประชุมที่ยัลตา [รัฐบาลโปแลนด์เรียกดินแดนเหล่านี้ว่า "ดินแดนที่ได้คืนมา" (Regained Territories) โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวครั้งหนึ่งเคยเป็นสมบัติของราชวงศ์ปิแอสต์ (Piast Dynasty) กษัตริย์ชาวโปล] และยังได้ยอมให้มีการโยกย้ายประชากรชาวเยอรมันที่ยังคงตกค้างอยู่ในเขตแดนเก่าและใหม่ของโปแลนด์กลับเยอรมนีด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเรียกร้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมันในโปแลนด์ในอนาคต โดยรวมแล้วโปแลนด์ได้พื้นที่จำนวน ๑๑๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรจาก เยอรมนีมาชดเชยกับพื้นที่ ๑๘๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรที่อยู่ทางด้านตะวันออกของพรมแดนเคอร์ซันที่สูญเสียให้กับสหภาพโซเวียต ในเรื่องที่เกี่ยวกับแนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอนี้มหาอำนาจทั้งสามได้ให้บรรจุข้อตกลงต่าง ๆ ไว้ใน "ความตกลงพอทสดัม" (Potsdam Agreement) ซึ่งเป็นเอกสารสรุปผลการประชุม โดยรอให้มีการกำหนดเส้นเขตแดนอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนี ซึ่งมหาอำนาจตะวันตกหวังว่าจะสามารถจัดทำได้ในไม่ช้า และจะสามารถปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพรมแดนระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ได้อีกครั้งในสนธิสัญญาดังกล่าว
     ผลของการประชุมที่พอทสดัมได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ ซึ่งกล่าวว่า หากเขาได้อยู่ในที่ประชุมครั้งนั้นเขาคงไม่ยอมรับรองเส้นพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอตะวันตกอย่างแน่นอนและใน "สุนทรพจน์ม่านเหล็ก" (Iron Curtain Speech) อันมีชื่อเสียงที่ เขาแสดงที่เมืองฟูลตัน (Fulton) รัฐมิสซูรี (Missouri) สหรัฐอเมริกาในเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เชอร์ชิลล์ยังได้กล่าวถึงเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า "รัฐบาลโปแลนด์ที่ถูกครอบงำโดยโซเวียตได้รับการส่งเสริมให้กระทำความผิดอย่างใหญ่หลวงต่อเยอรมนี และการขับไล่มวลชนชาวเยอรมันนับล้าน ๆ คนโดยวิธีการที่ทารุณและคาดคิดไม่ถึงก็กำลังเกิดขึ้น" อย่างไรก็ดี ความตกลงพอทสดัมก็ได้กลายเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการเพียงฉบับเดียวที่มหาอำนาจที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปฏิบัติตามโดยที่ยังไม่มีสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนีเกิดขึ้น ด้วยเหตุนั้นหลังการสถาปนาประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๙ แล้วสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาเซกอร์เชเลตซ์ (Treaty of Zgorzelec) กับโปแลนด์เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ เพื่อให้การรับรองเส้นโอเดอร์-ไนส์เซอเป็นพรมแดนถาวรระหว่างประเทศทั้งสอง โดยเรียกเส้นดังกล่าวอย่างเป็นทางการว่า "แนวพรมแดนแห่งสันติภาพและมิตรภาพ" (Border of Peace and Friendship) ในขณะที่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าว
     สำหรับเยอรมนีตะวันตกซึ่งมีผู้อพยพส่วนใหญ่จากประเทศในยุโรปตะวันออกเข้ามาอาศัยอยู่ถึงประมาณ ๑๒ ล้านคนก็ไม่ยอมให้การรับรองเส้นโอเดอร์-ไนส์เซอเป็นแนวพรมแดนถาวร เนื่องจากปัญหาแนวพรมแดนดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับปัญหาการรวมเยอรมนี (Reunification of Germany)* ฉะนั้นในหลักการฮัลชไตน์ (Hallstein Doctrine)* เยอรมนีตะวันตกจึงไม่ยอมให้การรับรองทั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์และรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกที่ครอบงำโดยสหภาพโซเวียต ในขณะที่สหภาพโซเวียตได้ใช้การรับรองแนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอเป็นเงื่อนไขของ การรวมเยอรมนีมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๒ ซึ่งฝ่ายตะวันตกก็ยังไม่ยอมให้การรับรองมาโดยตลอด ในสมัยที่วิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)* เป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตะวันตกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๔ จุดยืนและท่าทีของเยอรมนีตะวันตกได้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากเขาได้ดำเนินนโยบายมุ่งตะวันออกกับสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกรวมทั้งเยอรมนีตะวันออกด้วย และใน ค.ศ. ๑๙๗๑ เยอรมนีตะวันตกยังได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือซึ่งรู้จักกันในชื่อ "สนธิสัญญามอสโก" (Treaty of Moscow) กับสหภาพโซเวียต และสนธิสัญญาวอร์ซอ (Treaty of Warsaw) กับโปแลนด์ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับสหภาพโซเวียตและโปแลนด์ดีขึ้นเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีผลต่อการคลี่คลายปัญหาแนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอด้วยเนื่องจากในสนธิสัญญากับโปแลนด์ เยอรมนีตะวันตกให้การรับรองว่าเส้นโอเดอร์-ไนส์เซอเป็นแนวพรมแดนถาวรระหว่างเยอรมนีตะวันออกกับโปแลนด์ ปัญหาความขัดแย้งเรื่องแนวพรมแดนดังกล่าวจึงยุติลง นอกจากนี้สนธิสัญญาฉบับนี้ยังอนุญาตให้ชาวเยอรมันที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนที่กลายเป็นของโปแลนด์เดินทางเข้าออกเพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัวได้ แม้ว่าการเยี่ยมเยือนโดยทั่วไปยังกระทำได้ยากและการเข้าไปตั้งถิ่นฐานถาวรของชาวเยอรมันในโปแลนด์ยังไม่สามารถกระทำได้ก็ตาม
     ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๐ หลังการรวมเยอรมนีเสร็จสิ้นลงรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและรัฐบาลสาธารณรัฐโปแลนด์ได้ลงนามในสนธิสัญญาอีกฉบับหนึ่ง เพื่อยืนยันแนวพรมแดนระหว่างกันตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาการรวมเยอรมนี (Treaty on the Final Settlement With Respect to Germany) สนธิสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๒ นอกจากนี้ในเยอรมนีเองก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและได้ยกเลิกมาตรา ๒๓ ของกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ของเยอรมนีตะวันตก ซึ่งว่าด้วยการอ้างสิทธิเหนือดินแดนด้านตะวันออกของเยอรมนีในฐานะที่เป็นเงื่อนไขของการรวมเยอรมนี ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและโปแลนด์ได้ลงนามในสนธิสัญญาแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างกัน (Treaty of Good Neighbourhood) ซึ่งส่งผลให้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องแนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ หมดไปโดยสิ้นเชิง ทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การเมือง และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ทั้งสองดีขึ้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการให้สิทธิทางการเมืองและวัฒนธรรมแก่ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในโปแลนด์และเยอรมนีเพิ่มขึ้นด้วย ในปัจจุบันมีชนเชื้อสายเยอรมันอาศัยอยู่ในโปแลนด์ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน ในขณะที่มีชาวโปลเป็นชนกลุ่มน้อยในเยอรมนีกว่า ๑.๕ ล้านคน.



คำตั้ง
Oder-Neisse Line
คำเทียบ
แนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ
คำสำคัญ
- สุนทรพจน์ม่านเหล็ก
- สนธิสัญญาเซเชอร์เซเลตส์
- หลักการฮัลชไตน์
- ปิแอสต์, ราชวงศ์
- แนวพรมแดนแห่งสันติภาพและมิตรภาพ
- การประชุมที่ยัลตา
- การประชุมที่พอทสดัม
- ซิทเทา, เมือง
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน ดี.
- นโยบายมุ่งตะวันออก
- บอลติก, ทะเล
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- โอเดอร์-ไนส์เซอ, แนวพรมแดน
- โอเดอร์, แม่น้ำ
- กดานสก์, เมือง
- ชเตททิน
- โอดรา, แม่น้ำ
- เคอร์ซัน, แนวพรมแดน
- คาลินินกราดโอบลาสต์
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- แซกโซนี, แคว้น
- สตาลิน, โจเซฟ
- เบรสเลา, เมือง
- ราทิบอร์
- ไซลีเซีย
- บรันเดนบูร์ก
- มาซูเรีย
- พอเมอเรเนีย
- วาร์เมีย
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สวีเนมึนเดอ
- กองทัพนาซี
- เสรีนครดานซิก
- สหประชาชาติ
- ฟูลตัน, เมือง
- กองทัพแดง
- อีสต์ปรัสเซีย
- ออพเพิลน์
- แอตต์ลี, เคลเมนต์
- ทรูแมน, แฮร์รี เอส
- การประชุมที่วังเซซิเลียนโฮฟ
- การรวมเยอรมนี
- โบเบอร์, แม่น้ำ
- บรันดท์, วิลลี
- สนธิสัญญามอสโก
- ความตกลงพอทสดัม
- สนธิสัญญาการรวมเยอรมนี
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สนธิสัญญาแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างกัน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf